ผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Bypass)
การผ่าตัดบายพาสหัวใจ (Coronary Artery Bypass Grafting: CABG)
การผ่าตัดบายพาสหัวใจ (Coronary Artery Bypass Grafting: CABG) คือ การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจข้ามบริเวณหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันรุนแรงไปยังกล้ามเนื้อหัวใจ โดยการนำหลอดเลือดที่แข็งแรงจากส่วนอื่นของร่างกายมาทำการเชื่อมต่อเข้าหากันระหว่างด้านบนและด้านล่าง เพื่อช่วยให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดีขึ้น ช่วยลดและบรรเทาอาการเจ็บแน่นหน้าอกหรือปวดเค้นหน้าอกในผู้ที่มีอาการโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันรุนแรง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือโรคหัวใจวายที่เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตกระทัน การผ่าตัดบายพาสหัวใจช่วยกู้ชีพ และช่วยให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติอีกครั้ง
ทำไมต้องผ่าตัดบายพาสหัวใจ
การผ่าตัดบายพาสหัวใจ หรือการผ่าตัดต่อหลอดเลือดหัวใจเป็นวิธีการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันรุนแรงหลายหลอดรวมกันซึ่งเกิดจากตะกรันไขมัน หินปูน หรือลิ่มเลือดสะสมที่ผนังหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจตีบแคบ อุดตัน และแข็งตัวจนทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เจ็บเค้นหน้าอก หัวใจวาย และอาจทำให้เสียชีวิต
แพทย์โรคหัวใจจะพิจารณาการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดบายพาสหัวใจให้กับผู้ที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีอื่นเนื่องจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันรุนแรง โดยการนำหลอดเลือดดำจากต้นขา หรือหลอดเลือดแดงจากปลายแขนหรือใต้กระดูกหน้าอกซ้าย มาทำทางเดินหลอดเลือดหัวใจใหม่เชื่อมต่อกันระหว่างหลอดเลือดแดงเอออร์ต้า (Aorta) ด้านบน และหลอดเลือดแดงโคโรนารี (Coronary artery) ด้านล่าง ข้ามบริเวณหลอดเลือดหัวใจอุดตันเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้สะดวกขึ้น ช่วยทุเลาอาการเจ็บแน่นหน้าอก และช่วยให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น
ข้อบ่งชี้ว่าควรทำการผ่าตัดบายพาสหัวใจ
เจ็บแน่นหน้าอกรุนแรง เจ็บแน่นตรงลิ้นปี่ เจ็บตรงกลางหน้าอกเหมือนมีของหนักมากดทับ
เหนื่อยง่าย หายใจไม่ออก ใจสั่น เหงื่อออกมาก หน้ามืด วูบ หมดสติ หัวใจหยุดเต้น
เจ็บแน่นหน้าอกรุนแรงร้าวไปที่หัวไหล่ซ้าย แขน หลัง คอ ใต้คาง และกราม
เจ็บเค้นหน้าอกคงที่ หรือเจ็บเค้นหน้าอกเรื้อรัง
เจ็บแน่นหน้าอกรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา
เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือหลอดเลือดหัวใจอุดตันรุนแรง
หลอดเลือดของหัวใจห้องล่างซ้ายตีบรุนแรง การบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้ายไม่ดี
เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดทั้งชนิดเฉียบพลันหรือเรื้อรัง หรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย
หลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันหลายหลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นเบาหวาน ไตวายเรื้อรัง
มีโรคหัวใจชนิดอื่น ๆ ร่วม ที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด เช่น โรคลิ้นหัวใจตีบ โรคลิ้นหัวใจรั่ว
ผู้ที่มีอาการหัวใจวายที่แพทย์ไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูนและขดลวดถ่างขยาย เนื่องจากเสี่ยงหลอดเลือดหัวใจฉีกขาด ตำแหน่งหลอดเลือดอุดตันมีความซับซ้อน หรือผนังหลอดเลือดแข็งตัวมาก
การผ่าตัดบายพาสหัวใจ รักษาโรคอะไร
โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเรื้อรัง
โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดชนิดไม่ปรากฎอาการชัดเจน
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
หลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรง
หลอดเลือดหัวใจตีบหลายหลอด
ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว
ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
ผู้ที่มีความเสี่ยงภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
การวินิจฉัยก่อนการผ่าตัดบายพาสหัวใจ มีวิธีการอย่างไร
หากไม่ได้เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ต้องกู้ชีพทันที แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจวาย หรือโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดอื่น ๆ โดยทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจเฉพาะทางที่ลึกขึ้นโดยเน้นไปที่หัวใจ ปอด ชีพจร และซักประวัติหากมีอาการดังต่อไปนี้
การซักประวัติ
มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกรุนแรง เจ็บเค้นหน้าอก ใจสั่น เหนื่อยหอบ หายใจถี่เร็ว หน้ามืด หมดสติ
มีประวัติเป็นโรคหัวใจ หรือบุคคลในครอบครัวเดียวกันเป็นโรคหัวใจวาย หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือไตวายเรื้อรัง
เป็นผู้ที่แพทย์เคยวินิจฉัยพบความผิดปกติต่าง ๆ ของหัวใจจากการตรวจคัดกรองโรคหัวใจ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจร่วมกับการเดินสายพาน การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือดหัวใจ หรือตรวจเอคโค่หัวใจ
ตรวจประเมินหัวใจ
ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG/ECG
ตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ หรือตรวจเอคโค่หัวใจ
ตรวจสมรรภภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย
ตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์
การฉีดสีสวนหัวใจ
การผ่าตัดบายพาสหัวใจ มีกี่วิธี
การผ่าตัดบายพาสหัวใจมี 2 วิธี โดยศัลยแพทย์หัวใจจะเป็นผู้วินิจฉัยวิธีการผ่าตัดที่ดีและเหมาะสมกับผู้เข้ารับการผ่าตัดแต่ละบุคคลมากที่สุด ดังนี้
การผ่าตัดบายพาสหัวใจโดยใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมทำผ่าตัด (On-Pump CABG) เป็นวิธีการผ่าตัดโดยใช้เทคนิคหยุดการเต้นของหัวใจลงชั่วคราว และใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียมในการทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตให้ไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแทน จนว่าการผ่าตัดบายพาสหัวใจจะแล้วเสร็จ วิธีการรักษาแบบ On-Pump CABG เป็นวิธีการรักษาแบบดั้งเดิมที่นิยมใช้รักษาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และได้รับการยอมรับในวงการศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอกว่าให้ผลการรักษาที่ดีทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
การผ่าตัดบายพาสหัวใจโดยไม่ใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมทำผ่าตัด (Off-Pump CABG) เป็นวิธีการผ่าตัดโดยไม่ใช้เทคนิคหยุดการเต้นหัวใจและไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียมในการสูบฉีดโลหิตชั่วคราว แต่ศัลยแพทย์หัวใจจะทำการผ่าตัดบายพาสหัวใจขณะที่หัวใจยังคงเต้นอยู่โดยใช้เครื่องมือ Local Stabilizer ช่วยยึดเกาะหัวใจในจุดที่ทำการต่อเส้นเลือดให้หยุดนิ่ง ในขณะที่จุดอื่น ๆ ของหัวใจยังคงทำงานเป็นปกติ วิธีการรักษาแบบ Off-Pump CABG เป็นวิธีการรักษาที่ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในผู้ที่แพทย์วินิจฉัยว่าไม่เหมาะกับวิธีการผ่าตัดแบบ On-Pump CABG หรือวิธีการอื่น ๆ